เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก androidauthority.com
หากพูดถึงจำนวนของผู้ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการระหว่างแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิล (Google) และไอโอเอส (iOS) ของแอปเปิล (Apple) แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้ใช้แอนดรอยด์นั้นได้แซงหน้า iOS ไปมากแล้ว ชนิดที่เรียกว่าไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว
ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยสัดส่วนทางการตลาดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ออกมา พบว่าแอนดรอยด์มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงถึง 72.4% ส่วน iOS นั้นมีส่วนแบ่งเพียง 13.9% เท่านั้น นับว่าเป็นตัวเลขที่ห่างกันไกลมาก ๆ แต่จะมีใครทราบบ้างว่าเพราะเหตุใด กูเกิลถึงแซงหน้าแอปเปิลไปได้ขนาดนั้น นาย Simon Hill จากเว็บไซต์ androidauthority.com จึงได้ทำการวิเคราะห์เรื่องนี้ขึ้นมาให้พวกเราได้อ่านกันเป็นบทความตามด้านล่างนี้ครับ
หากพิจารณาในด้านการให้บริการทางด้านออนไลน์และเว็บแล้ว ทางด้านของกูเกิลนั้นมีบริการต่าง ๆ ที่ครบถ้วนและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Google Docs (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Google Drive), Google Maps, Google Music, Google+, Youtube หรือ Chrome ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนถูกเชื่อมต่อกันหมดผ่าน Google Account และรวมตัวเข้ากับแอนดรอยด์ ทำให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกสบายในการใช้งาน อีกทั้งยังมีระบบที่มีเสถียรภาพสูง ถึงแม้ผู้ใช้จะไม่ค่อยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็สามารถใช้งานได้อย่างไร้ปัญหาใด ๆ
แต่เมื่อเทียบกับบริการของด้านแอปเปิลแล้ว ทางแอปเปิลมีบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าของกูเกิล ไม่ว่าจะเป็น iTunes, iCloud, MobileMe, Facetime หรือ Safari ซึ่งล้วนมีปัญหาและข้อผิดพลาดต่างจากทั้งตัวโปรแกรมและระบบ ที่ทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งบริการแผนที่อย่าง Apple Maps หรือบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง Ping ที่แอปเปิลพยายามสร้างมาแข่งขันกับคู่แข่ง แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด จึงเป็นสาเหตุให้เหล่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ต้องการใช้บริการเหล่านี้เป็นหลัก เลือกที่จะใช้แอนดรอยด์กันมากกว่า iOS
ทีนี้มาลองดูกันในด้านของการออกแบบซอฟต์แวร์บ้าง iOS ได้ถือกำเนิดมาก่อนแอนดรอยด์ โดยมาพร้อมกันกับ iPhone กับ iPod touch ในปี 2007 และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ส่วนแอนดรอยด์นั้นมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนครั้งแรกในปี 2008 โดยในช่วงแรก ๆ นั้นแอนดรอยด์ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากยังเป็นระบบใหม่ และยังพัฒนาออกมาได้ไม่ค่อยดีนัก แต่หลังจากนั้นกูเกิลก็พยายามพัฒนาปรับปรุงให้แอนดรอยด์มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่างกับแอปเปิลที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะพัฒนา iOS สักเท่าไหร่ จากแนวคิดที่ว่า "ถ้ามันไม่ได้มีปัญหาอะไร เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน" หรือเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือกูเกิลนั้นวิ่งไปข้างหน้าอยู่ตลอด แต่แอปเปิลนั้นคลานอยู่กับที่นั่นเอง ทำให้แอนดรอยด์ในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพที่มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านอินเทอร์เฟซและการใช้งาน แต่ iOS กลับคงรูปแบบเดิม ๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่
ในส่วนของด้านฮาร์ดแวร์ ทางกูเกิลได้เปรียบกว่าแอปเปิลค่อนข้างมาก เนื่องจากมีบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้แอนดรอยด์ออกมาหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรุ่น หลากหลายดีไซน์ ต่างกับแอปเปิลที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ iOS แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจากการที่มีอุปกรณ์แอนดรอยด์ออกมาหลากหลายนั้น ส่งผลให้มีโอกาสเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้แอนดรอยด์มีสิทธิที่จะเลือกซื้ออุปกรณ์รุ่นที่ตัวเองต้องการได้ตามใจชอบ ต่างกับผู้ใช้ iOS ที่มีตัวเลือกเพียงอุปกรณ์ของแอปเปิลที่มีออกมาเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากูเกิลจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงกว่าแอปเปิลอยู่มาก แต่แอปเปิลนั้นมีกำไรสูงมากกว่ากูเกิล เหตุผลนั้นเป็นเพราะว่าทั้งสองบริษัทใช้กลยุทธ์ที่ต่างกัน โดยกูเกิลเน้นการทำส่วนแบ่งการตลาดให้สูง และเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก ส่วนแอปเปิลไม่ได้เน้นจำนวนลูกค้า แต่มุ่งเน้นการจัดสรรทรรพยากรการลงทุนด้านซอฟต์และแวร์ฮาร์ดแวร์มากกว่า ส่งผลให้สามารถทำกำไรได้มากกว่ากูเกิลที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้เท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ ยังมีการพบว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของแอนดรอยด์นั้น ส่วนหนึ่งได้มาจากฐานลูกค้าของ BlackBerry และ Nokia ด้วย เพราะในระยะหลัง ๆ ทั้งสองแบรนด์เริ่มได้รับความนิยมลดลงไปมาก เนื่องจากลูกค้าหันมาใช้แอนดรอยด์กันแทน โดยในตอนนี้ยังเหลือที่ว่างที่เป็นโอกาสให้แอนดรอยด์และ iOS สามารถขยายตลาดได้ออกไปอีก และในอนาคตเมื่อตลาดถึงจุดอิ่มตัวแล้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าการเจริญเติบโตของแอนดรอยด์จะหยุดนิ่ง เพราะอาจมีผู้ใช้ iOS เปลี่ยนใจหันมาใช้แอนดรอยด์กันแทนก็เป็นได้ ถึงแม้แอปเปิลจะมีบรรดาสาวกอยู่เหนียวแน่นก็ตาม แต่ถ้าหากแอปเปิลยังคงคลานอยู่กับที่ ในขณะที่กูเกิลนั้นพยายามวิ่งเร็วต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้เหล่าสาวกเกิดอาการไขว้เขวได้เหมือนกัน...